ลำดับที่ 399. “เล่นหมาหมาเลียหน้า เล่นข้าข้าหยุบหัว”
อ่าน (-เล่น-หมา-หมา-เลีย-หน้า///เล่น-ข้า-ข้า-หยุบ-หัว-)
หมายถึง....การให้ความเป็นกันเองกับผู้น้อยจนเกินไป เป็นผู้ใหญ่แต่ไม่วางตัว ทำให้เสื่อมความนับถือ
กำบ่าเก่าจึงว่า “เล่นหมาหมาเลียหน้า เล่นข้าข้าหยุบหัว”
การนำไปใช้ เป็นผู้ใหญ่ต้องวางตัวให้เหมาะสม ไม่หยอกล้อกับผู้น้อยจนเกินไป
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “เล่นกับหมา หมาเลียปาก เล่นกับสาก สากต่อยหัว”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “เล่นหมาหมาเลียหน้า เล่นข้าข้าจับหัว”
ลำดับที่ 400. “ลูบหน้าปะฮูดัง”
อ่าน (-ลูบ-หน้า-ปะ-ฮู-ดัง-)
หมายถึง….ทำอะไรลงไปไม่สะดวกนัก เพราะมีผู้มีอำนาจ ผู้ที่ควรให้ความเกรงใจดูแลอยู่ หรือกลัวไปกระทบพวกพ้องที่มีอยู่ ทำให้เกิดความลำบากใจ
กำบ่าเก่าจึงว่า “ลูบหน้าปะฮูดัง”
การนำไปใช้ ควรทำทุกอย่างด้วยเหตุผลหรือความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “ลูบหน้าปะจมูก ”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ลูบหน้าปะจมูก”
ลำดับที่ 401. “เลี้ยงจ๊างกิ๋นขี้จ๊าง”
อ่าน (-เลี้ยง-จ๊าง-กิ๋น-ขี้-จ๊าง-)
หมายถึง.....ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากงานที่ทำ
กำบ่าเก่าจึงว่า “เลี้ยงจ๊างกิ๋นขี้จ๊าง”
การนำไปใช้ ดูแลเอาใจใส่ในงานที่ทำเพื่อจะได้ผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือมากขึ้น
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง”
ลำดับที่ 402. “เลี้ยงหมาหลายเผื่อว้อ” อ่าน (-เลี้ยง-หมา-หลาย-เผื่อ-ว้อ-)
หมายถึง.....เตรียมการเผื่อเหลือเผื่อขาด มีการเผื่อไว้
กำบ่าเก่าจึงว่า “เลี้ยงหมาหลายเผื่อว้อ”
การนำไปใช้ วางแผนเผื่อไว้เพื่อรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “เผื่อเหลือเผื่อขาด ”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “เลี้ยงสุนัขหลายตัว เผื่อมันเป็นบ้า ”(ยังเหลือตัวอื่นไว้เฝ้าบ้าน)
ลำดับที่ 403. “แล่งเมินก็แล่งหันลาย แล่งขวายก็แล่งหันแซง”
อ่าน (-เแล่ง-เมิน-ก่อ-แล่ง-หัน-ลาย///แล่ง-ขวาย-ก่อ-แล่ง-หัน-แซง-)
หมายถึง…..ยิ่งนานวันเข้า ก็ยิ่งแสดงซึ่งลักษณะนิสัยแท้จริง (ที่ไม่ค่อยดี) ออกมาให้เห็น
กำบ่าเก่าจึงว่า “แล่งเมินก็แล่งหันลาย แล่งขวายก็แล่งหันแซง”
การนำไปใช้ ควรเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย จนเป็นปกตินิสัย ถ้าเสแสร้งแกล้งทำ เมื่อความจริงเปิดเผย จะทำให้เป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “ออกลาย///น้ำลดตอผุด ”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ยิ่งนานวันยิ่งเผยลาย ยิ่งสายลายยิ่งชัด”
ลำดับที่ 404. “ลูกหล้าครัวฮอม” อ่าน (-ลูก-หล้า-ครัว-ฮอม-)
หมายถึง….ลูกคนสุดท้ายของครอบครัวมักจะเป็นที่รักใคร่และได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ
กำบ่าเก่าจึงว่า “ลูกหล้าครัวฮอม”
การนำไปใช้ เมื่อเป็นลูกคนสุดท้องต้องทำตัวน่ารัก ตั้งใจเรียน
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “ลูกสุดท้องน้องสุดท้าย///ลูกหัวแก้วหัวแหวน”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ลูกสุดท้องน้องสุดท้าย”
ลำดับที่ 405. “ลูกกับป้อเหมือนหย้อกับลาบ”
อ่าน (-ลูก-กับ-ป้อ-เหมือน-ย่อ-กับ-ลาบ-)
หมายถึง.....ความสัมพันธ์พ่อกับลูกย่อมตัดกันไม่ขาด
กำบ่าเก่าจึงว่า “ป้อกับลูก เหมือนหย้อกับลาบ”
การนำไปใช้ให้ สายสัมพันธ์พ่อลูกจะให้ขาดจากกันเป็นเรื่องยาก
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “พ่อกับลูกเหมือนหย้อกับลาบ”(ลาบเป็นอาหารล้านนนา โดยนำเนื้อสดและเลือดคลุกเคล้า สับให้ละเอียดปรุงรสด้วยน้ำพริกลาบ ใส่หย้อหรือย่อคือเครื่องในวัวควายที่เรียกว่าผ้าขี้ริ้ว หั่นเป็นชิ้นใส่ในลาบ อาจลวกก่อนหรือใส่ดิบๆก็ได้ ไม่ใส่จะไม่อร่อย ทำนองว่าขาดจากกันไม่ได้)
ลำดับที่ 406. “ลูกหลานหลาย คนเฒ่าต๋ายอยาก”
อ่าน (-ลูก-หลาน-หลาย-คน-เถ้า-ต๋าย-หยาก-)
หมายถึง….มีลูกหลานมาก แต่กลับปล่อยให้พ่อแม่อยู่อย่างอดๆอยากๆ ไม่ดูแลตอบแทนพระคุณ
กำบ่าเก่าจึงว่า “ลูกหลานหลาย คนเฒ่าต๋ายอยาก”
การนำไปใช้ เอาใจใส่ ดูแล บิดามารดาปู่ย่าตายาย
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ลูกหลานเยอะ ปล่อยคนแก่อดอยาก ”
ลำดับที่ 407. “ลูกซาวคนป้อแม่เลี้ยงได้ ป้อแม่สองคนบ่มีไผเลี้ยง”
(-ลูก-ซาว-คน-ป้อ-แม่-เลี้ยง-ได้///ป้อ-แม่-สอง-คน-บ่อ-มี-ไผ-เลี้ยง-)
หมายถึง.....การทอดทิ้งไม่ดูแลเลี้ยงดูบิดามารดาตอนท่านชรา เพราะว่าท่านยากจน ไม่มีทรัพย์สมบัติ
กำบ่าเก่าจึงว่า “ลูกซาวคนป้อแม่เลี้ยงได้ ป้อแม่สองคนบ่มีไผเลี้ยง”
การนำไปใช้ ให้มีความกตัญญูต่อบิดามารดา นึกถึงตอนเราเล็กๆท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ลูกยี่สิบคนพ่อแม่เลี้ยงได้ พ่อแม่สองคนไม่มีใครเลี้ยง ”
ลำดับที่ 408. “ละอ่อนหันแต่กำเป๊า คนเฒ่าหันแต่กำกิ๋น”
อ่าน (-ละ-อ่อน-หัน-แต่-กำ-เป๊า////คน-เถ้า-หัน-แต่-กำ-กิ๋น-)
หมายถึง....คนเรามีจุดอ่อนที่แตกต่างกัน จะดีมากถ้ารู้จักจุดอ่อนนั้นและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
กำบ่าเก่าจึงว่า “ละอ่อนหันแต่กำเป๊า คนเฒ่าหันแต่กำกิ๋น”
การนำไปใช้ เรียนรู้ลักษณะผู้อื่นเพื่อการขอความช่วยเหลือ เพื่อนำไปใช้ได้ถูกทาง
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “รู้เขารู้เรา”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “เด็กเล็กชอบคำยกยอปอปั้น ส่วนคนแก่นั้นชอบอาหารการกิน ”