3.ความรับผิดชอบ
หมายถึง การมีความมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานให้บรรลุความสำเร็จตามความมุ่งหมายยอมรับผลการกระทำนั้น และพยายามปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการปลูกฝังและสร้างค่านิยมเรื่องความรับผิดชอบในระดับมัธยมศึกษา มุ่งเน้นให้นักเรียนปฏิบัติหน้าที่การงานของตนเองที่เกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน สถานศึกษา ครอบครัว และสังคม ให้สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี และพยายามปรับปรุงงานและวิธีปฏิบัติงานให้ดีขึ้น
ความรับผิดชอบ คือ ความสำนึกได้อยู่เสมอในการปฏิบัติงาน เอาใจใส่ติดตามผลไม่ทอดทิ้ง ยอมรับผิดชอบผลของหน้าที่การงานที่ตนเองกระทำทั้งดีไม่ดี ไม่ปัดความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนแก่ผู้อื่น
ความสำคัญของความรับผิดชอบ
1.ทำให้เป็นคนตั้งใจจริง รักหน้าที่การงานทั้งเป็นของส่วนตนและส่วนรวม
- เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ตนเองและหมู่คณะตลอดถึงประเทศชาติ
- เป็นคุณสมบัติสำคัญของคนในชาติที่เจริญแล้ว
- เป็นคุณลักษณะที่จำเป็นในวิถีชีวิตในสังคมประชาธิปไตย
- เป็นการสร้างเสริมคุณลักษณะของความเป็นผู้นำที่ดี
- ทำให้สังคมและประเทศชาติมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ลักษณะของการรู้จักรับผิดชอบต่อตนเอง คือ
1.ตรงต่อเวลา ได้แก่ การตรงต่อเวลาที่กำหนดนัดหมาย เช่น การไปโรงเรียน การไปทำงาน การประชุม การนัดพบ ฯลฯ
2.รู้จักหน้าที่ของตน ได้แก่ รู้จักสภาพสำคัญที่ตนเองเป็นอยู่ ตนมีหน้าที่ทำอะไร ต้องทำสิ่งนั้นให้สมบูรณ์
ด้วยความขยันหมั่นเพียรเต็มความสามารถ เช่น นักเรียนต้องเรียนหนังสือ ครุต้องอบรมนักเรียน หมอต้องรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย
3.รู้จักคุ้มครองตน ได้แก่ รู้จักวิธีรักษาตน ป้องกันตนเองให้มีความปลอดภัยพ้นจากอันตรายต่างๆ
- รู้จักคุมความประพฤติของตนเอง ได้แก่ การที่ตนมีความสามารถบังคับควบคุมจิตใจตนเองไม่ให้หลงใหลมัวเมาในอบายมุข ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม
- รู้จักรักษาสุขภาพอนามัย หากไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ จัดว่าเป็นลาภอันประเสริฐ ดังนั้น จึงรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะสามารถต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ดีเพื่อจะได้ใช้ความสามารถทำหน้าที่การงานให้ได้สมบูรณ์ เช่น ต้องระวังรักษาเสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่ให้สะอาดปราศจากโรค เป็นต้น
ความรับผิดชอบในการศึกษาเล่าเรียน หมายถึง การที่นักเรียนศึกษาเล่าเรียนจนประสบความสำเร็จ ตามความมุ่งหมาย ด้วยความขยันหมั่นเพียร อดทน เข้าห้องเรียนและส่งงานที่ได้รับมอบหมายตรงตามเวลาที่กำหนด เมื่อมีปัญหาหรือไม่เข้าใจในบทเรียนก็พยายามศึกษาค้นคว้า ซักถามอาจารย์ให้เข้าใจ เมื่อทำแบบฝึกหัดผิดก็ยอมรับว่าผิดแล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องด้วยตนเองอยู่เสมอ มีผลการเรียนผ่านทุกวิชาในทุกภาคเรียน
คำแนะนำเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเรียน
1.พยายามฝึกจิตตนเองให้มีสมาธิ อย่างน้อยวันละ 6-10 นาที วิธีง่ายๆคือ นั่งหลับตานึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียว อย่าให้ใจไขว้เขวไปนึกถึงเรื่องอื่นเด็กมักไม่มีสมาธิในขณะที่ฟังครูอาจารย์สอน หรือเวลาดูหนังสือ จิตใจมักคิดไปเรื่องอื่น จึงทำให้เรียนหรือดูหนังสือไม่รู้เรื่อง
2. ตั้งใจฟังครูสอนอย่าขาดเรียน การขาดเรียนจะทำให้ไม่ได้รับความรู้ที่ต่อเนื่อง ถ้าบ่อยครั้งจะทำให้ไม่เข้าใจในวิชานั้น
3. กล้าถามเมื่อไม่เข้าใจบทเรียนตอนใดควรถามอาจารย์ทันทีไม่ต้องเกรงใจ เพราะอาจารย์ทุกท่านยินดีให้ความรู้ แก่ศิษย์อย่างเต็มที่
4. ขยันทำการบ้านอย่าลอกการบ้านส่งครู เพราะการทำการบ้านเท่ากับเป็นการทบทวนความรู้ที่อาจารย์สอนจะทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
5. อ่านหนังสือทบทวนความรู้ที่ได้เรียนไปแล้ว อย่าอ่านหนังสือเฉพาะเวลาใกล้สอบเพราะสมองของเราจะจำความรู้มากมายในระยะสั้นไม่ได้
ความรับผิดชอบต่อสถานศึกษา หมายถึง การที่นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของสถานศึกษา รักษาผลประโยชน์ เกียติยศ ชื่อเสียงของสถานศึกษา ช่วยกันรักษาความสะอาดของสถานศึกษา ไม่ขีดเขียนโต๊ะเรียน ผนังห้องเรียน ห้องน้ำห้องส้วม แต่งเครื่องแบบนักเรียนเรียบร้อย ไม่ทะเลาะวิวาทกับโรงเรียนอื่น คอยตักเตือนเพื่อนนักเรียนที่หลงผิดอันจะทำให้โรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง เมื่อโรงเรียนต้องการความร่วมมือหรือความช่วยเหลือก็เต็มใจให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนตามความสนใจและความสามารถของตน เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน เช่น เป็นนักกีฬา นักดนตรี นักแต่งคำขวัญ เรียงความ กลอน เพลง ฯลฯ
ประโยชน์ของความรับผิดชอบต่อสถานศึกษา ภายหลังจากที่นักเรียนมีการปฏิบัติตนด้านนี้เป็นประจำแล้วจะเกิดผลดรหลายด้าน ตัวนักเรียนจะเป็นผู้มีวินัยเป็นคนมีคุณภาพเป็นทีรักใคร่ของบิดามารดา ครูอาจารย์ และเมื่อทุกคนมีความรับผิดชอบ สถานศึกษานั้นจะได้รับการยอมรับจากผู้ปกครอง ชุมชน โดยจะมีผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานมาเข้าเรียนจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเป็นผลดีต่อชุมชนโดยทางราชการจะไดจัดครูอาจารย์ และงบประมาณในการก่อสร้างอาคราสถานที่ตลอดจนวัสดุให้กับโรงเรียน สถานศึกษาแห่งนี้จะได้เป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
ความรับผิดชอบต่อครอบครัว หมายถึง การที่นักเรียนมีความตั้งใจช่วยเหลืองานต่างๆภายในบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกันตามความสามารถของตนและรู้จักแสดงความคิดเห็น และปฏิบัติตนเพื่อความสุข และชื่อเสียงของครอบครัว ช่วยแก้ปัญหาการที่สมาชิกในครอบครัวไม่เข้าใจกัน เมื่อมีปัญหาก็ปรึกษาและให้พ่อแม่รับทราบปัญหาของตนเองทุกเรื่อง ช่วยครอบครัวประหยัดไฟฟ้า น้ำ อาหาร สิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน ฯลฯ
ความรับผิดชอบต่อครอบครัวเป็นการยกระดับคุณภาพตัวของนักเรียนให้สูงขึ้น เป็นการเตรียมตัวเพื่อจะรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป นอกจากนี้ผลดีต่อการรับผิดชอบต่อครอบครัวจะเป็นการช่วยลดภาระของพ่อแม่ จะทำให้พ่อแม่มีสุขภาพจิตดี มีความสุข และการที่บุตรได้มีส่วนช่วยครอบครัวให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจะเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างครอบครัวให้มีฐานะดีขึ้น และมีฐานะมั่นคงต่อไป การฝึกสำรวจพฤติกรรมตนเองด้านความรับผิดชอบต่อครอบครัว เป็นสำนึกที่ดีในการปรับปรุงตนเองให้เกิดผลดีต่อครอบครัว เป็นพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาสังคม ประเทศชาติ
แนวปฏิบัติมีดังนี้
1.ฝึกสำรวจหรือยกตัวอย่างครอบครัวเพื่อนบ้าน หรือบุคคลที่นักเรียนรู้จัก ที่สมาชิกในครอบครัวมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว และตอบคำถามในประเด็นต่อไปนี้
- บุคคลเหล่านี้มีพฤติกรรมอย่างไร
- นักเรียนมีความรู้สึกอย่างไรถ้านักเรียนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวนั้น และได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว
- สำรวจพฤติกรรมที่นักเรียนสร้างเสริมขึ้น หรือปรับปรุงแกไขในเรื่องความรับผิดชอบต่อครอบครัว
- วางแผนการปฏิบัติให้ตนมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว
- ฝึกควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตามแผนที่หนดไว้
ความรับผิดชอบต่อสังคม หมายถึง การที่นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชนและสังคม บำเพ็ญประโยชน์ และสร้างสรรค์ความเจริญให้ชุมชนและสังคมอย่างเต็มความสามารถ ช่วยสอดส่องพฤติกรรมของบุคคลที่จะเป็นภัยต่อสังคม ให้ความรู้สึกสนุกเพลิดเพลินแก่ประชาชนตามความสามารถของตน ช่วยคิดและแก้ไขปัญหาต่างๆของสังคม เช่นความสกปรก การรักษาสาธารณสมบัติผู้คิดร้ายต่อประเทศ การจราจร การเสียภาษี และการรับบริจาคสถานบริการต่างๆ ของรัฐบาล
สังคม คือ กลุ่มชุมชนอยู่รวมกัน ณ ที่ใดที่หนึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมเป็นอย่างเดียวกัน สังคม มีได้ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ สังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ที่ใหญ่ก็คือ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ สังคมขนาดใหญ่ที่สุดคือโลก ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่างๆ
ความรับผิดชอบต่อสังคมคือความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมแล้วกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆในทางที่จะไม่ทำใดๆให้เกิดผลเสียหายแก่ส่วนรวม แต่ให้เกิดผลดีแทนที่
ประโยชน์ของการมีความรับผิดชอบต่อสังคม สมาชิกจะมีความสำนึกในการที่จะช่วยสังคมหรือส่วนรวมอยู่เย็นเป็นสุข จะไม่ทำการใดๆให้สังคมลำบากเดือดร้อน
การวิเคราะห์พฤติกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของเพื่อนนักเรียน ถือได้ว่าเป็นการสำรวจพฤติกรรมของเพื่อนๆนักเรียนที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมโดยที่ในสังคมที่เราอยู่นี้นอกจากตัวเราจะมีความรับผิดชอบมีวินัยที่ดีแล้วในบรรดาเพื่อนๆก็มีผลที่จะทำให้สังคมมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือเลวลงได้ ดังนั้นการได้สังเกตการณ์ได้วิเคราะห์ทั้งพฤติกรรมของตนเองและของเพื่อนจะมีส่วนช่วยจรรโลงสังคมให้ดีขึ้น การวิเคราะห์มีแนวปฏิบัติดังนี้
1.สำรวจพฤติกรรมของเพื่อนนักเรียนที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม
- บอกความรู้สึกที่มีต่อพฤติกรรมของตนที่เพื่อนๆสำรวจ
- ยอมรับการกระทำของตน และยอมรับฟังคำวิจารณ์เกี่ยวกับตนเองจากเพื่อนคนอื่นๆ
- จัดลำดับความสำคัญของพฤติกรรมที่กำหนด
- บอกเหตุผลในการจัดลำดับความสำคัญของพฤติกรรมที่กำหนดให้ได้
- เลือกแนวปฏิบัติสำหรับพฤติกรรมตนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม
นักเรียนแต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นและการแสดงออกที่แตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละคนแม้เขาจะมีพฤติกรรมที่เราไม่ชอบ แต่ขณะเดียวกันถ้าเราคิดทบทวนและวิเคราะห์ดู เขาอาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่เราชอบด้วย