การส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
การส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านหมายถึง การสนับสนุนฟื้นฟู ดูแล บำรุงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา ภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ การละเล่นดนตรี ชีวิตความเป็นอยู่ และวิทยาการที่มีอยู่แล้วในชุมชน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมว่าดีงาม ให้คงสภาพหรือปรับปรุงในส่วนที่ดีงามของสิ่งเหล่านั้นจากสติปัญญาชาวบ้าน เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการดำเนินวิถีชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างสมสมัยจากการศึกษาของนักวิชาการหลายแขนงพบว่า การเสื่อมสลายของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน มีสาเหตุคือ
ประการแรก เกิดจากความสูญเสียความเข้าใจและความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทไทยทั่วประเทศ
ประการที่สอง เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคมในหลายช่วงทศวรรษต่อเนื่องกัน ดุลยภาพระหว่างคน สังคม สิ่งแวดล้อมในเมืองได้สูญเสียไป
ประการที่สาม เกิดจากความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ประการที่สี่ เกิดจากวิกฤตการณ์ของระบบราชการที่ปรับเปลี่ยนได้ช้า ไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ
ประการที่ห้า เกิดจากคุณธรรม จริยธรรม บนพื้นฐานวัฒนธรรมพุทธเกษตรที่เป็นลักษณะ เฉพาะของคนไทยสั่นคลอนจากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก
ประการสุดท้ายเกิดจากวิกฤตการณ์ของระบบการศึกษา ที่มุ่งเน้นทักษะและความรู้เป็นสากลแต่ขาดพื้นฐานดั้งเดิมมารองรับอย่างมั่นคง คือไม่ได้ให้ความสำคัญกับด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเหมาะสมกลมกลืน ทำให้การศึกษาเป็นไปเพื่อการแสวงอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนยิ่งนานวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น
การพัฒนากิจกรรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่จะพัฒนาผู้เรียนให้สมบูรณ์โดยระบบการนิเทศภายในอย่างบูรณาการ เป็นแนวทางหนึ่งที่ส่งเสริมให้ครูผู้สอนพัฒนาตนเองในด้านการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตร กิจกรรมการส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน ตามนโยบาย ความเชื่อ จุดเน้น และสิ่งละอันพันละน้อยของกรมสามัญศึกษา หรือตามนโยบายของโรงเรียนหรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านของท้องถิ่นให้สอดคล้องกับความต้องการความถนัดและความสนใจของนักเรียนเป็นกระบวนการ
ความสำคัญของการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
ชาติไทยได้สร้างสม อารยะธรรมเป็นเวลานาน โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลอารยะธรรมของชนชาติใดให้ต้องสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม แม้ในช่วงระยะหลังหลายชั่วอายุคนที่ผ่านมา เรารับอารยะธรรมตะวันตกมาปรับใช้กับชีวิตแบบไทยๆก็เป็นไปอย่างนุ่มนวล กลมกลืนไม่ว่าจะเป็นด้าน การเมือง การปกครอง การทหาร การศึกษา การแต่งกาย ศิลปะ และการดนตรี ตลอดจนถึงชีวิตความเป็นอยู่ เรายังคงรักษาเพิ่มพูนคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของเราจนเป็นที่ภาคภูมิใจแก่คนไทยทั้งชาติและพลโลก
ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อการดำรงชีวิตของทุกชีวิตอย่างมากด้วยระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ วัฒนธรรมทั้งด้านดีและด้านที่ยังไม่ได้พัฒนาให้เหมาะสมจากทั่วทุกมุมโลก หลั่งไหลเข้าสู่วงจรชีวิตของคนไทยเราอย่างขาดระบบและขาดขั้นตอนการรับที่มีแบบแผนเพียงพอ ยังผลให้เยาวชนของเราเกือบทั่วประเทศพากันนิยมชมชื่นกับความแปลกใหม่ของวัฒนธรรมต่างชาติ บางคนถึงกับดูหมิ่นอับอายในศิลปวัฒนธรรมตลอดจนภูมิปัญญาชาวบ้านของไทย เป็นเรื่องที่น่าห่วงใยยิ่ง การสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนในชาติไปอย่างสิ้นเชิงนั้น เท่ากับเป็นการล่มสลายของชาติ ดังนั้นถึงแม้จะเป็นการยากลำบากที่จะแก้ไขในเรื่องนี้เพียงใดก็ตาม ก็ควรเริ่มต้นเพื่อชีวิตและสังคมไทยที่ดีและคงความเป็นเอกลักษณ์ไทยดังนั้นการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านจึงมีวัตถุประสงค์คือ
- เพื่อรักษาไว้ให้คงอยู่ให้เป็นมรดกของชาติ
- เพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
- รักษาไว้ เพื่อศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย ถึงความเป็นมาในอดีต เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป
- เพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- เพื่อแสดงว่าชาติไทยมีอารยธรรมของตนเองมิได้อยู่ใต้อิทธิพลของชาติใด
จุดมุ่งหมายของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
1.เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยเกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรม และ ตระหนักถึงภาระหน้าที่อันสำคัญของงานในการสืบทอดมรดกทางสังคมนี้ไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลังต่อไป
2.ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามในอดีตของไทย ให้ได้รับการอนุรักษ์ส่งเสริม พัฒนาควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม การส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านในโรงเรียน
กระทรวงศึกษาธิการเห็นคุณค่าและความสำคัญของการดำรงไว้ ซึ่งศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงมุ่งส่งเสริมให้โรงเรียน นักเรียนให้เกิดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้านมาปรับปรุง เพื่อมาใช้ในการแก้ปัญหาการดำเนินชีวิตได้อย่างสมสมัย ดังจะเห็นได้จากจุดหมายของหลักสูตร มัธยมศึกษาตอนต้น กล่าวไว้ในข้อ 8 ว่า
“เข้าใจสภาพและการเปลี่ยนแปลงของสังคมในชุมชน สามารถเสนอแนวทาง ในการพัฒนาชุมชน ภูมิใจในการปฏิบัติตามบทบาทและหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของชุมชนตลอดจนอนุรักษ์และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนของตน”
และในจุดหมายของหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายข้อ 9 ระบุไว้ว่า
“ เข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมในประเทศและในโลกมุ่งเน้นในการพัฒนาประเทศตามบทบาทและหน้าที่ของตน ตลอดจนอนุรักษ์และเสริมสร้างทรัพยากร ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของประเทศ”
และนอกจากนี้ยังปรากฏในจุดประสงค์รายวิชาต่างๆ ทั้งมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อีกหลายๆรายวิชาเช่นวิชาสังคมศึกษา ภาษาไทย ศิลปศึกษา วิชาชีพ ฯลฯ
ฉะนั้นในการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาชาวบ้านในโรงเรียนมัธยมศึกษานั้น จำเป็นจะต้องรณรงค์เผยแพร่ อนุรักษ์ ปรับปรุง พัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่ออนุรักษ์และหรือนำเอาส่วนที่ปรับปรุงพัฒนาแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อการเรียนการสอน ให้มากที่สุด เช่นอาจนำมาแก้ปัญหาการบริหารโรงเรียนในด้านต่าง ๆนำมาใช้ในการประกอบอาชีพอิสระ เพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียนเป็นต้น
แนวดำเนินงานการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาวบ้านในโรงเรียน
1.ให้ความรู้เกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่า เกิดเจตคติที่จะร่วมรับผิดชอบ ในฐานะเป็นสมบัติของทุกคนที่จะร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่ฟื้นฟูและพัฒนาอย่างเหมาะสม
2.ปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมนักเรียนและกิจกรรมโรงเรียนให้นักเรียนมีโอกาสร่วมปฏิบัติในเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเชื่อมโยงและร้อยรัดกับสภาพที่มีในท้องถิ่น เกิดความรู้และประสบการณ์ในการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง 3. จัดสถานการณ์ให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการยอมรับ ภาคภูมิใจในมรดก ทางความคิด ทางการสร้างสรรค์สามารถเลือกสรรนำมาพัฒนาและสืบทอดอย่างสมสมัยได้ 4.ส่งเสริมโดยการรณรงค์อย่างกว้างขวาง ในการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้และพัฒนาอย่างเหมาะสมในโรงเรียนเพื่อพัฒนาวิถีชีวิตของตนและชุมชนในท้องถิ่น 5. ปลูกฝังความรัก หวงแหนในคุณค่า เอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านว่าเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้สามารถปรับปรุง และตอบสนองกระแสวัฒนธรรมอื่นที่มีอิทธิพลได้อย่างชาญฉลาด 6.สร้างและประสานเครือข่ายทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านกับองค์กรนอกโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อสนเทศองค์ความรู้เรื่องต่างๆ เพื่อสนับสนุนหรือร่วมกิจกรรมการอนุรักษ์และส่งเสริมเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
วิธีดำเนินการในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- แต่งตั้งคณะกรรมการในโรงเรียน
2.ประชุมครูให้เข้าใจเรื่องการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- ประชุมนักเรียน ส่งเสริมให้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- ออกแบบสำรวจ และสำรวจรวบรวมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน ในท้องถิ่นของตนและท้องถิ่นอื่น
- เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นวัตถุและความเชื่อไว้ที่โรงเรียน เพื่อนำไว้ในการศึกษา ค้นคว้าต่อไป
- วิเคราะห์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ปรับปรุง แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนให้มากที่สุด
- วิเคราะห์คำอธิบายรายวิชากิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเป็นจุดประสงค์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- ส่งเสริมให้นักเรียนนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน หรือประกอบอาชีพอิสระเพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียน หรือใช้ในชีวิตประจำวัน
- ส่งเสริมให้จัดกิจกรรมต่างๆ ให้มีขึ้นอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาชาวบ้านเช่น รวบรวมเป็นเอกสาร
การจัดกิจกรรมส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สอดคล้องกับหลักสูตร.
โรงเรียนมีหน้าที่ให้การสนับสนุนในการใช้สิ่งแวดล้อมสภาพท้องถิ่น ทั้งในด้านวัสดุอุปกรณ์ บุคลากรท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ โรงเรียนอาจนำไปดำเนินการได้ดังนี้
- พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
- เสริมหลักสูตร
- สอดแทรกในรายวิชาต่างๆ
การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
- ชี้แจงให้บุคลากรในโรงเรียนทราบถึงแนวทางพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดทำรายวิชาท้องถิ่น
- สำรวจความต้องการของท้องถิ่น
- สำรวจความคิดเห็นความต้องการของผู้ปกครอง
- สำรวจความต้องการของผู้เรียน
- นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำหลักสูตร
- ดำเนินการจัดทำหลักสูตร
- ขออนุมัติการใช้หลักสูตร
- นำหลักสูตรมาใช้ในโรงเรียน
- ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่
การเสริมหลักสูตร
มี 2 ลักษณะคือ การจัดทำเป็นโครงการทั้งโรงเรียน และเป็นการจัดกิจกรรมที่ระบุไว้ในหลักสูตร ซึ่งโรงเรียนมีแนวทางดำเนินการดังนี้
- สำรวจข้อมูลท้องถิ่น
- สำรวจสภาพปัญหาภายในโรงเรียนเพื่อวิเคราะห์ในการนำมาแก้ไข หรือส่งเสริมสำหรับการจัดทำโครงการ
- วิเคราะห์ข้อมูล
- นำผลมาวิเคราะห์มาจัดทำโครงการ
- ดำเนินการตามโครงการ
- สรุปผลและเผยแพร่
การสอนสอดแทรกในรายวิชาต่างๆมีแนวทางดำเนินการดังนี้
- พิจารณาจุดประสงค์การเรียนรู้ว่า มีจุดประสงค์ใดสอดคล้องกับเรื่องการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- จัดกิจกรรมการเรียนมุ่งส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- สร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าความสำคัญและประโยชน์ของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- กำหนดกิจกรรมให้นักเรียนได้ศึกษาดังนี้
*** สำรวจ สัมภาษณ์ รวบรวมข้อมูล
*** วิเคราะห์ วิจารณ์ ให้เห็นคุณค่าและความสำคัญ
*** อนุรักษ์เผยแพร่
ตัวอย่างกิจกรรมท่าสอดคล้องกับจุดประสงค์รายวิชา โครงการศึกษาค้นคว้าลวดลายของล้านนาไทย
ล้านนาไทยเป็นอาจักรเก่าแก่ของไทยภาคเหนือ เป็นอาณาจักรที่มีศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมมาช้านาน มีความเจริญรุ่งเรืองหลายยุคหลายสมัย ในด้านศิลปหัตถกรรมลวดลายต่างๆ ที่เป็นของล้านนา มีมากมายและเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จึงควรได้ศึกษาค้นคว้ารวบรวมลวดลายต่างๆที่เป็นลักษณะเฉพาะของล้านนา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ดำรงไว้ให้เป็นความภาคภูมิใจของชาติและศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
แนวดำเนินการศึกษาค้นคว้า จากพิพิธภัณฑ์ โบสถ์ วิหาร โบราณสถาน โบราณวัตถุ เอกสารฯลฯ รวบรวมเป็นเอกสารเผยแพร่ต่อไป
คุณธรรมที่ต้องการให้เกิดในตัวนักเรียน ความเสียสละ ความสามัคคี ไม่เห็นแก่ตัวอนุรักษ์วัฒนธรรม ตัวอย่างกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายโรงเรียน โครงการเลี้ยงไก่บ้านพันธุ์ผสม
ปัจจุบันไก่บ้านเป็นที่นิยมของมากเพราะให้รสชาติที่ดีกว่าไก่เนื้อตามท้องตลาดแต่ปัญหาของไก่บ้านอยู่ที่ ขยายพันธุ์ได้ช้า ใช้เวลาเลี้ยงยาวนาน ไม่คุ้มกับการประกอบกิจกรรม จึงสนใจการนำไก่บ้านมาผสมกับไก่พันธุ์เนื้อ เพื่อต้องการให้ได้ไก่พันธุ์ผสม ซึ่งจะได้คุณภาพเนื้อที่ดีกว่าไก่เนื้อ และการเลี้ยงดูที่ไม่ยาวนานเท่าไก่บ้าน เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค การดำเนินการคัดเลือกพันธุ์ไก่บ้านและไก่เนื้อ มาผสมพันธุ์ โดยใช้อาหารไก่เนื้อทั่วไปตามท้องตลาด และจำหน่ายเป็นรายได้ระหว่างเรียน และเป็นการพัฒนาคุณภาพของไก่เนื้อ พันธุ์ไก่ให้ดีขึ้น
คุณธรรมที่ต้องการให้เกิดกับนักเรียน ความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ การพึ่งตนเอง
ตัวอย่างกิจกรรมที่สอดคล้องกับชุมชน
โครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาชาวบ้าน
คนไทยเป็นนักคิดนักประดิษฐ์มาแต่โบราณ เห็นได้จากการมีผลงานในรูปแบบต่างๆมากมายในทุกยุคทุกสมัย ทั้งในลักษณะของประดิษฐ์กรรมที่ใช้แก้ปัญหาการดำรงชีวิตในบ้านเรือนท้องถิ่นหรือในลักษณะของปรัชญา คติธรรมที่ใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต นับวันมรดกทางสังคมที่มีค่าเหล่านี้ กำลังสูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทยรุ่นใหม่ โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูบางสิ่งบางอย่างที่มีประโยชน์ ให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่งโดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัย
แนวปฏิบัติ
- สืบหาประดิษฐ์กรรมและการละเล่นต่างๆจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่ในท้องถิ่น (หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด)
- ติดต่อ นำมาจัดนิทรรศการในโรงเรียนหรือในชั้นเรียน
- เชิญเจ้าของผลงานมาให้คำแนะนำ อธิบายตลอดจนสาธิตผลงานั้น
คุณธรรมที่ต้องการให้เกิดในตัวผู้เรียน
- ความกตัญญูกตเวที
- ความอ่อนน้อมถ่อมตน
- การรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น การส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
การส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน สำหรับนักเรียนนับเป็นนโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกรมสามัญศึกษา เป็นไปตามแผนพัฒนา วัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ.2531-2539) ประกอบกับเป็นช่วงทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมของสหประชาชาติ คือช่วงปี พ.ศ. 2531-2540 เป็นการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน ส่วนที่ดีงามที่ได้เสื่อมสลายไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ให้สามารถใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาผู้เรียนและสังคมไทยต่อไป ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นของไทยส่วนใหญ่มีแก่นสารและคุณค่าอย่างลุ่มลึกมีรากเหง้าแห่งความดีงามที่สมสมัยและเป็นนิรันดร์ ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านของไทย ทำให้บ้านเมืองประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัยอย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคง มีความรักสามัคคี มีความเอื้ออาทร และมีความเป็นไทยหลงเหลือมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ฉะนั้น ครูควรตระหนักถึงความจำเป็นความสำคัญและประโยชน์ของศิลปวัฒนธรรม และนำภูมิปัญญาชาวบ้าน มาพัฒนาปรับปรุงใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนให้มากที่สุด
จุดประสงค์
- เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการ แนวทาง วิธีการในการส่งเสริมอนุรักษ์ พัฒนาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของหลักสูตรและกิจกรรมเสริมหลักสูตรในโรงเรียน
- เพื่อให้นำภูมปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาปรับปรุงใช้ในการจัดกิจกรรมในโรงเรียนและชุมชน
- เพื่อประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน มีความสัมพันธ์กันคือภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นความรู้ ความคิด กิจกรรม วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน ชุมชน ต่อมาจึงได้พัฒนามาเป็นศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้านจึงเป็นส่วนย่อยๆของศิลปวัฒนธรรม
ภูมิปัญญาชาวบ้าน( Local wisdom )
ภูมิปัญญาเป็นคำที่รู้จักกันมานานแล้ว ส่วน “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” เพิ่งมีผู้คนสนใจพูดถึงกันเมื่อทศวรรษที่ผ่านมานี้ ทั้งองค์กรภาครัฐและองค์กรเอกชน การเข้าใจเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เข้าใจวัฒนธรรมของชาวบ้าน และทำให้เข้าใจภาพรวมวัฒนธรรมของชาติได้
ความหมายของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้านคือ พื้นเพรากฐาน ความรอบรู้ของชาวบ้านที่เรียนรู้ และมีประสบการณ์ที่สืบต่อกันมาทั้งทางตรงด้วยตนเองหรือทางอ้อม ซึ่งเรียนรู้จากบรรพบุรุษหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดทำได้เอง เป็นสติปัญญาเป็นองค์ความรู้ทั้งหมดของชาวบ้าน หรือความรู้สั่งสมเป็นระยะยาวนาน และมีลักษณะเชื่อมโยงกันได้ทุกสาขาวิทยา ด้วยการใช้เหตุผลมีขั้นตอนโดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่นำมาใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้ในท้องถิ่นอย่างกลมกลืนเหมาะสม
ความสำคัญของภูมิปัญญาชาวบ้าน
1.เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดและสันติสุขของชุมชนในท้องถิ่น
- เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา สร้างให้เกิดความรักความสามัคคี ความผูกพัน ทำให้สังคมอยู่อย่างสันติ
- ช่วยพัฒนาการดำรงชีวิตให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
- สามารถพัฒนา ปรับปรุง ให้เหมาะกับยุคปัจจุบัน เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อโรงเรียนและชุมชน
ลักษณะของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้านมี 2 ลักษณะคือ
- ลักษณะที่เป็นนามธรรมเป็น โลกทัศน์ ชีวะทัศน์ เป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตเช่น เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย คุณค่าและความหมายของทุกสิ่งในชีวิต
- ลักษณะที่เป็นนามธรรมเป็นความสัมพันธ์กับคนอื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคมหรือชุมชน
เรื่องเกี่ยวกับการทำมาหากิน เช่น
*** ด้านการเกษตร (เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน และวนเกษตร)
*** ด้านสิ่งแวดล้อม(การอนุรักษ์ป่าและพื้นสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำและอื่นๆ)
*** ด้านสวัสดิการชุมชน(ธุรกิจชุมชน ธนาคารในรูปแบบต่างๆ)
*** ศิลปหัตถกรรม ดนตรีการละเล่น และวรรณกรรมพื้นบ้านอื่น ๆ)
ภูมิปัญญาชาวบ้านแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกัน คือ
- ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับโลก สิ่งแวดล้อม พืช สัตว์ธรรมชาติ
- ความสัมพันธ์กับคนอื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคมหรือชุมชน
- ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่ไม่อาจสัมผัสได้
ทั้ง 3 ลักษณะ คือมิติแห่งชีวิตที่สะท้อนออกมาถึงการใช้ภูมิปัญญาอันเป็นรากฐานในการ ดำเนินชีวิตของชาวบ้าน
เมื่อพูดถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็คงไม่พ้นที่จะหวนคิดถึง พื้นเพรากเหง้า สติปัญญา ความคิดความดีงามที่ชาวบ้านปฏิบัติสืบทอดกันมาในสภาพปัจจุบันจะมีคำตอบมากมาย ที่แอบแฝงในลักษณะที่เป็นคุณค่า ปรากฏในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เรื่องการรณรงค์ส่งเสริมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม หรือต่อต้านเพื่อหยุดภัยพิบัติอันเกิดจาก“ กากเดน”ของเทคโนโลยีแผนใหม่ เช่น วัสดุย่อยสลายยาก น้ำเน่า และสารพิษในรูปแบบต่างๆ อันเป็นผลจากการคลั่งไคล้ในความศิวิไลย์ทางวัตถุโดยปราศจากสติปัญญาควบคุม
ตัวอย่างภูมิปัญญาชาวบ้าน
“ ผีปู่ตา: กับการอนุรักษ์ป่า”
“ ผีปู่ตา” เป็นเสมือนวิญญาณหรือผีบรรพบุรุษ ที่คอยคุ้มครองรักษาแต่ละหมู่บ้าน ดอนปู่ตาหรือดงปู่ตา (ดอนหรือดงคือป่า) เป็นชื่อที่คุ้นเคยในท้องถิ่นภาคอีสานปัจจุบันนี้ชื่อนี้ลดน้อยลง พร้อมกับจำนวนของป่าไม้ ดอนปู่ตา จะมีศาลาหลังเล็กๆเรียกว่า“ ตูบ” เป็นที่สิงสถิตของปู่ เรียกว่า“ตูบปู่ตา”ปู่ตา จะคอยดูแลทุกข์สุข และปัดเป่าเภทภัยต่างๆแก่ชาวบ้าน “ผีปู่ตา” จะเป็นความเชื่อ เจตนา หรือจะด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม แต่ผลพวงที่เกิดจากจุดนี้ ได้สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ป่าด้วยต้นไม้เล็กใหญ่ นาๆพันธุ์ เป็นที่อาศัยพักพิงของสัตว์ต่าง ๆเพราะชาวบ้านไม่เข้าไปตัดทำลายเนื่องจากเป็นที่อาศัยของผีปู่ตา ป่าจึงยังคงเป็นป่าบริสุทธิ์สมบูรณ์เรื่องของผีปู่ตา มีส่วนให้ชาวบ้านเกิดความสามัคคี สร้างศูนย์รวมจิตใจชาวอีสานให้ความเคารพและถือปฏิบัติเช่นเดียวกับศาสนาที่สอนให้กลัวนรก และให้ชื่นชมสวรรค์ โดยใช้ภาพปริศนาธรรมในการสอนให้ขยาดกลัวต่อการทำชั่ว หันมาปฏิบัติธรรม มุ่งสู่สวรรค์และนิพพานในที่สุด